วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

กลอนสุภาพ


 จำเรียงรักษ์อักษรผ่านกลอนกาพย์
เพราะซึ้งซาบรสกวีศรีสยาม
"สุนทรภู่"ครูกลอนกระฉ่อนนาม
ทั่วเขตคามใครอ่านซ่านอารมณ์
ทั้งแว่วหวานตาลหยดจนมดไต่โอดอาลัยโศกเศร้าเคล้าทุกข์ถม
ไหลลดเลี้ยวทะเล้นล้อโลมลมพอกเพาะบ่มสั่งสอนแทรกซ้อนธรรม
เสริมคติชี้นำย้ำให้คิดเมื่อชีวิตตกยุคทุกข์กระหน่ำ
บอกสาเหตุเจตนาพาระกำคนอ่านนำประยุกต์ใช้ได้ทุกครา
ยอดนิราศปราชญ์นิทานคนขานกล่าวจินตกวีเรื่องราวจนกังขา
ไม่เคยพบไม่เคยเห็นเป็นบุญตากลับเกิดมาชี้ชัดปัจจุบัน
ซึ้งพระคุณครูกลอนที่สอนศิษย์จึงอุทิศใจกายหมายมุ่งมั่น
สืบอักษรกลอนครูอยู่นิรันดร์ แพร่วงวรรณศาสตร์ศิลป์ทั่วถิ่นไทย
ครูภาทิพ มิถุนายน ๒๕๔๘


เมื่อแต่งมากกว่า ๑ บท ต้องมีสัมผัสระหว่างบท สังเกตสัมผัสระหว่างบทจากแผนผัง



ตัวอย่างบทประพันธ์ที่ควรจำ
      กลอนสุภาพพึงจำมีกำหนด
กลอนหนึ่งบทสี่วรรคกรองอักษร
วรรคละแปดพยางค์นับศัพท์สุนทรอาจยิ่งย่อนจ็ดหรือเก้าเข้าหลักการ
ห้าแห่งคำคล้องจองต้องสัมผัสสลับจัดรับรองส่งประสงค์สมาน
เสียงสูงต่ำต้องเรียงเยี่ยงโบราณเป็นกลอนกานท์ครบครันฉันท์นี้เอย
ฐะปะนีย์ นาครทรรพ
ม.ล.บุญเหลือ เทพสุวรรณ ประพันธ

ความไพเราะของกลอนสุภาพคลิกอ่านฉบับปรับปรุงจากลีลาภาษากลอน ๑ และ ๒ 
คลิกอ่านลีลาการแต่งกลอนสุภาพตอนที่ ๑
คลิกอ่านลีลาการแต่งกลอนสุภาพ ตอนที่ ๒

คณะของกลอนสุภาพ
              หนึ่งบทมี ๔ วรรค วรรคละ ๘- ๙ พยางค์ ๘ พยางค์ไพเราะที่สุดสัมผัสบังคับของ
กลอนสุภาพเป็นสัมผัสสระตามแผนผัง

สัมผัสนอก 
              ความหมายก็คือสัมผัสนอกวรรคและนอกบท เป็นเสียงสัมผัสสระที่บังคับระหว่างวรรคและระหว่างบท



สัมผัสใน
              สัมผัสในหมายถึงเสียงสัมผัสคล้องจองภายในวรรคเดียวกันประกอบด้วยเสียงสระและเสียงพยัญชนะ ช่วยทำให้กลอนมีความไพเราะรื่นหู ไม่ได้บังคับไว้ในฉันทลักษณ์ กลอนของสุนทรภู่จะมีลักษณะโดดเด่นในเรื่องสัมผัสในมากที่สุด ผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่ากลอนสุภาพที่โดดเด่นด้านสัมผัสในนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก "ปัฐยาวัตตฉันท์" ของภาษาบาลีและรวมกลบทเรื่อง "กลบทศิริวิบุลกิติติ์" ของ หลวงศรีปรีชา(เซ่ง)



คลิกที่นี่ >>เพื่อเรียนรู้เรื่องคำสัมผัสสระและสัมผัสอักษร 
สัมผัสใจ               สัมผัสใจในที่นี้หมายถึงการเขียนกลอนให้สัมผัสถึงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อ่าน ผู้ฟัง กลอนจะสัมผัสใจได้ต้องมีองค์ประกอบที่เด่น ๆ หลายส่วนด้วยกันดังแผนภาพ


ตัวอย่างการใช้อุปลักษณ์(เปรียบความคิดอย่างหนึ่งโยงไปสู่อีกอย่างหนึ่ง) ตัวอย่าง
       คือน้ำผึ้งคือน้ำตาคือยาพิษ
คือหยาดน้ำอำมฤตอันชื่นชุ่ม
คือเกสรดอกไม้คือไฟรุม
คือความกลุ้มคือความฝันนั่นแหละรัก 


(รยงค์ เวนุรักษ์ :ไฟรัก ไฟชัง ไฟลา)

ตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์

       อาจเป็นความหนาวในราวป่า
เมื่อพบว่ารอยเท้าก้าวถลำ
และอ้อมแขนความมืดมีเพียงสีดำ
ในช่วงคืนแห่งค่ำร่ำอวยพร


(ชนิดา เดชาฤทธิ์)

สีดำ แทนความมืด ความลี้ลับและความตาย

สัมผัสความ
              ำว่าสัมผัสความในที่นี้หมายถึง การเรียบเรียงเนื้อหาและแนวคิดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเนื้อเดียวกัน
จากวรรค ๑ สู่วรรค ๒ วรรค ๓ วรรค ๔ และส่งไปยังบทต่อ ๆ ไป ขณะเดียวกันก็สอดรับกับชื่อเรื่อง
ที่ตั้งไว้ ตัวอย่าง กลอนใช้คำสื่อความของศิลปินแห่งชาติ



สึนามิตร

สึนามิเพรียกหาสึนามิตร
โลกถึงกาลวิกฤตจะล่มสลาย
มวลมนุษย์ทั้งโลกจะมอดมลาย
อารยธรรมวอดวายวูบดับวับ

"อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
สะบัดตัวพลิกเคลื่อนเขยื้อนขยับ"
ปวงธาตุทั้งหลายถล่มทับ
ถั่งทลายไปกับกาลเวลา

โอ้ว่าอาทิตย์อุทัยสมัย
ลูกอาทิตย์อุทัยท่าวทบหล้า
ปฐพีพิโรธประลัยนภา
โอ้ว่าอนิจจาชีวามนุษย์

ยิ่งจะเจริญยิ่งจะร่วงกระนั้นหรือ
ยิ่งจะยื้อยิ่งจะเร่งให้โลกหยุด
ยิ่งสูงส่งเท่าไรยิ่งใกล้ทรุด
ฤๅดาวโลกใกล้จะหลุดลงหลุมดำ
สึนามิเพรียกหาสึนามิตร
ทุกชีวิตทุกวัยเหมือนใกล้ค่ำ
มาเถิดมิตรเผชิญหน้าชะตากรรม
ร่วมเช็ดน้ำตาช่วยด้วยน้ำมิตร ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


                  สัมผัสเลือนคือสัมผัสสระที่ต้องห้าม ไม่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ กล่าวคือ นำ สระเสียงสั้นมาสัมผัสกับสระเสียงยาว เช่น
                     เสียง ไอ ใอ อัย กับ เสียง อาย เสียงอัน กับ เสียง อาน เสียง อัง กับ เสียง อาง

ในการแต่งกลอนถือว่าสระเสียงสั้นกับสระเสียงยาวคนละหน่วยเสียงกัน
               ดังนั้นเมื่อแต่งกลอน ต้องไม่ใช้คำสัมผัสดังที่กล่าวมา
                ชิงสัมผัส คือการแย่งตำแหน่งสัมผัสบังคับ ก่อนถึงตำแหน่งสัมผัสเช่น คำสุดท้ายของวรรครับ
ต้องสัมผัสกับคำสุดท้ายในวรรครอง แต่ผู้แต่งกลับไปใส่เสียงสัมผัสนั้นในตำแหน่งคำอื่นๆ อาจจะเป็น
คำที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ หรือ ๗ ก่อนถึงตำแหน่งนั้น เหมือนกับการแย่งซีนนั่นเอง ทำให้กลอนไม่ไพเราะ
เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

                การลงเสียงวรรณยุกต์ท้ายแต่ละวรรคตามประเพณีนิยม เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่ทำให้กลอนนั้นมีความไพเราะ
รื่นหู
วรรคสลับ แต่โบราณ วรรคนี้จะไม่นิยมลงท้ายด้วยเสียงสามัญ แต่ปัจจุบันนิยมลงทุกเสียง
วรรครับ นิยมลงเสียง เอก เสียงโท และเสียงจัตวา การลงด้วยเสียงจัตวาเป็นเสียงที่ไพเราะที่สุด
และมีข้อสังเกตว่า หากลงเสียงจัตวาก็จะไม่ใช้คำจัตวาที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ
วรรครองและวรรคส่ง นิยมลงเสียงวรรณยุกต์สามัญและตรี
ตัวอย่างเสียงสามัญ          พอ เพลิน ใจ เธอ แวว ดี ชม คอย
ตัวอย่างเสียงเอก 
             เกิด แผ่ว โศก ผิด หวาด แจก บาป เสก
ตัวอย่างเสียงโท
              พ่อ วาด บ้าน แลก ข้อง รีบ เพรียก เมฆ
ตัวอย่างเสียงตรี 
             นุช รึ น้อง แล้ว จ๊ะ พลิก รัก พิศ
ตัวอย่างเสียงจัตวา 
         หรือ สมหมาย ปรารถนา สวรรค์ ผิวเผิน ขาน
ตัวอย่างคำประพันธ์
       ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
(สุนทรภู่)


ศักดิ์ เสียงวรรณยุกต์เอก จิต เสียงรรณยุกต์เอก
มิตร เสียงวรรณยุกต์ตรี จา เสียงวรรณยุกต์สามัญ 
              ในการแต่งกลอนไม่เพียงแค่รำพึงรำพัน หรือเรียบเรียงสัมผัสคล้องจองไปอย่างไร้จุดหมาย ผู้เขียนต้องมีแนวคิดที่ชัดเจนว่าจะนำเสนอแนวคิดอะไรถึงผู้อ่าน โดยใช้ภาษากลอนเป็นสื่อนำสาร(แนวคิด) กลอน ๑ เรื่องควรเสนอแนวคิดหลักเพียงแนวคิดเดียว


ตัวอย่างกลอนที่เสนอแนวคิดของสมาชิกกลุ่มร้อยรสบทกวี

ต้นหญ้าบนรอยแยก : โสภณ เปียสนิท
เสนอแนวคิดเกี่ยวกับเมื่อมีชีวิตก็ต้องสู้โดยนำต้นหญ้าบนรอยแยกเป็นตัวเปรียบเปรย

ถ้าวันนี้..หนูมีพ่อ : สันติสุข สันติศาสนสุข
เสนอแนวคิดสะท้อนภาพเด็กที่กำพร้า

ประเทศไทย ไร้เจ้าของ...? : ปณิธิ ภูศรีเทศ
เสนอแนวคิดให้ช่วยกันดูแลรักษาประเทศ อย่าทำลาย
พรุ่งนี้.....ของอาคิมาสะ : ภาทิพ
สะท้อนแนวคิดเรื่อง ความไม่แน่นอนจงอย่าผัดวันประกันพรุ่ง
..พอเพียง... : ครู ป.1
สะท้อนแนวคิดการมีความสุขบนความพอเพียง

  
          วรรคทองของกลอนคือกลอนวรรคที่มีความงดงามด้านการใช้ภาษา เสนาะด้วยเสียงสัมผัส ง่ายต่อการจดจำหรือท่องจำ มีการเปรียบเทียบเปรียบเปรย ใช้อุปมาอุปไมย อุปลักษณ์ สัญลักษณ์ โดดเด่นด้วยแนวคิดที่เป็นสัจธรรม และมีความเป็นอมตะ เป็นนิรันดร์ ไม่ตกยุค
          กลอนที่เป็นวรรคทองจะถูกนำไปใช้ประกอบการเขียนเพื่อเป็นบทนำ เพื่อประกอบในตอนจบเรื่อง การพูดเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่อง การพูดตอนจบ หรือการประกอบการเทศนาธรรม เช่น บทกลอนของสุนทรภู่ ของท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น
         ท่านผู้รู้แนะนำว่า ในการแต่งกลอนแต่ละครั้ง ผู้เขียนควรคิดหาคำที่มาเรียบเรียงเป็นวรรคทองอย่างน้อย ๑ วรรค
คลิกอ่านตัวอย่างวรรคทอง วรรคทองของกวี

         ผู้ที่อยากจะเขียนกลอนได้แต่ไม่มีพรสวรรค์ หากเพียงแต่อ่านฉันทลักษณ์แบบแผน ก็ยากที่ผลงานจะออกมาได้ดี การอ่านเป็นหัวใจของการเขียน คนที่จะเขียนกลอนได้ดี ต้องอ่านมาก โดยเฉพาะผลงานกลอนของครู-บูรพาจารย์ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านมีการสะสมคำ สะสมภาษาที่งดงาม และชินต่อเสียงสัมผัส
         การเริ่มต้นเขียนอาจจะเริ่มจากการเขียนล้อคำ ล้อความ ล้อสัมผัสกลอนของบรรดาครู ๆ ทั้งหลายก็ได้ หากสนใจก็หาอ่านได้จาก เว็บ วรรคทองของกวี     บันทึกไว้ในวงวรรณ ๔     มาลีฟ้า   จอมยุทธเมรัย                    

         ตัวอย่างผลงานกลอนระดับครู-บูรพาจารย

แม้อกนี้แคบนักน้องรักเอ๋ย
อย่าหวั่นเลยอุ่นอุรากว่าอกไหน
เมื่อมีพี่เอื้ออกแคบให้แอบไอ
จะออมไว้ให้อิงเพียงหญิงเดียว
(สวัสดิ์ ธงศรีเจริญ : ออมอก)
สรวงสวรรค์ชั้นกวีรุจีรัตน์
ผ่องประภัศร์พลอยหาวพราวเวหา
พริ้งไพเราะเสนาะกรรณวัณณนา
สมสมญาแห่งสวรรค์ชั้นกวี
(น.ม.ส. : สามกรุง)
ถ้ารักใครไม่ได้ก็ไม่รัก
แต่กุจักชักดาบเข้าฉาบฉุด
ดั่งโคถึกคึกคะนองลำพองรุด
ใครจะยื้อใครจะยุดจะฉุดใจ
เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก
ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน
ไม่รักกุกุก็จักไม่รักใคร
เอ๊ะ น้ำตากุไหลทำไมฤๅ
(ขรรค์ชัย บุญปาน, สุจิตต์ วงษ์เทศ : ร่วมกลอนรัก)
เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง
มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า
ซบหน้าติดดินกินทราย
(อังคาร กัลยาณพงศ์ : เสียเจ้า)
ตาต่อตามิได้หมายถึงจิต
กายอยู่ชิดเมื่อใจเอื้อมไม่ถึง
ยิ้มตอบยิ้มใช่สลักรักรัดรึง
คนใกล้จึงแสนไกลในชีวิต ๚
(สินี เต็มสงสัย : คนใกล้)
เธอจะอยู่แห่งไหน...ในผืนหล้า
รู้เถิดว่าพี่ครวญหวนถวิล
ไม่สิ้นแรงร่างล้มลงถมดิน
พี่ไม่สิ้นคำนึง...คิดถึงเธอ
(สุรพล สุมนนัฏ : แด่อดีต)
เมื่อขอบฟ้าพร่าพราวหลาวทองทาบ
พุ่งปลายปลาบทะลวงถิ่นทมิฬถอย
ความมืดแมกแหลกเรื้อไม่เหลือรอย
อุทัยพร้อยแสงพร่างสว่างพราย
(อุชเชนี: ในนิมิตร)
สองหูแว่วแว่วเสียงสำเนียงหวน
เสียงครางครวญชวนให้ฤทัยหมอง
เสียงนั้นแว่วแผ่วมาน่าขนพอง
คือเสียงของความจนค่นแค้นเอย ๚
(อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์: เสียงจากความจน)


กลอนนิราศกลอนนิราศมีฉันทลักษณ์เหมือนกลอนสุภาพ
ทุกประการเพียงแต่กลอนนิราศจะขึ้นต้นบทแรก
ด้วยวรรคที่ ๒ คือวรรครับ และลงท้าย
ในการจบด้วยเอย ครูกลอนนิราศคือ
ท่านสุนทรภู่กวีเอกของโลก 
แหล่งเรียนรู้กลอนนิราศ


ตัวอย่างสัมผัสบังคับของกลอนสุภาพ
      ดอกสร้อยฟ้าเลื้อยเลาะเกาะไม้ใหญ่ม่วงไสวกระจายคล้ายรัศมี
ยามลมโชยโปรยกลิ่นแสนยินดีคือมาลีงดงามนามสร้อยฟ้า
สร้อยมาลีในป่าน่าเพาะเลี้ยงไว้คู่เคียงข้างบ้านม่านพฤกษา
ส่งกลิ่นหอมพร้อมกันเดือนธันวาฯสร้อยมาลีหลากค่าน่านิยม
ครูภาทิพ


ดอกมลุลี
      มลุลีรวยรินส่งกลิ่นหอมยั่วพยอมหลากสีที่ในป่า
ดอกสีขาวพราวพร่างกระจ่างตางามสง่ารูปกลิ่นเป็นปิ่นไพร
รสสุคนธ์เลื้อยเลาะเกาะเป็นซุ้มเขียวชอุ่มอวบอ้วนชวนหลงหล
รสสุคนธ์คงอยู่คู่เนาไพรคมสากใบบาดเจ็บกว่าเล็บนาง
ครูภาทิพ ศรีสุทธิ์

ดอกรสสุคนธ์
ตัวอย่างการเล่นสัมผัสใน

      สร้อยอินทนิลถิ่นอยู่คู่เคียงป่าดอกสีฟ้าเข้มอ่อนอ้อนออกช่อ
เป็นระย้าเรียงย้อยห้อยเคลียคลอดุจจะล้อโลมดินถิ่นแอบเคียง
อิน-นิล-ถิ่น / อยู่-คู่ เป็นสัมผัสสระคู่-เคียง เป็นสัมผัสอักษร
ย้อย-ห้อย / ดิน-ถิ่นเป็นสัมผัสสระอ่อน -อ้อน-ออก เป็นสัมผัสอักษร
ย้า -ย้อย /เคลีย-คลอ เป็นสัมผัสอักษรล้อ-โลม เป็นสัมผัสอักษร




ไม้ไทยงามนามเด่น


กรรณิการ์กลีบขาวดุจดาวแจ่ม
เผยกลีบแย้มโปรยกลิ่นถิ่นพฤกษา
คราวค่ำคืนชื่นจิตให้นิทรา
ตื่นเช้ามากลีบร่วงล่วงสู่ดิน
เปรียบดอกไม้คล้ายเป็นเช่นมนุษย์
มีสูงสุดต่ำตกล้วนผกผิน
กรุ่น กลิ่นหอมกำจายให้ยลยิน
มีหมดกลิ่นโรยร่วงตามบ่วงกาล 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น